เก็บอัฐิ บ้านหรือวัด

ป้ายอัฐิหินอ่อน

จากคำบอกเล่าของ สงคราม ทิมสดิตย์ ไวยาวัจกรของวัดเสมียนนารีกล่าวว่า “ในอดีตญาติมักนำอัฐิจัดเก็บไว้ที่บ้าน และนิยมสร้างเจดีย์เพื่อจัดเก็บ

เนื่องจากบ้านของคนสมัยก่อนมีพื้นที่มากพอที่จะแบ่งมาสร้างเจดีย์ที่ต้องใช้เนื้อที่อย่างมาก ประกอบกับความเชื่อของคนสมัยก่อนที่เชื่อกันว่าบรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะคอยปกป้องรักษาคนในบ้าน”

เจดีย์อัฐิ

ปัจจุบันเนื่องจากครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง จากบ้านใหญ่ๆที่อยู่หลายคนก็เล็กลงมาตามจำนวนสมาชิก ทำให้การเก็บรักษาอัฐิอาจทำได้ไม่สะดวกนักและสิ้นเปลืองเนื้อที่ และบางคนก็มีความกลัวในเรื่องวิญญาณ จึงนิยมนำเอาอัฐิมาเก็บไว้ที่วัด ซึ่งวัดต่างๆ ก็มีการจัดเตรียมที่เก็บอัฐิไว้ตามความต้องการของญาติเช่นกัน การเดินทางมาวัดนั้นก็สะดวกสบายที่บรรดาญาติจะมาทำบุญอัฐิให้ผู้ตาย

แต่การเก็บอัฐิไว้ที่วัดก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน ซึ่งราคาในแต่ละวัดก็จะมีความแตกต่างกัน ราคาถูกแพง ขึ้นอยู่กับที่ตั้งของวัด ขนาดสำหรับช่องบรรจุ

เมื่อความนิยมของญาติได้เปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บอัฐิไว้ที่วัด วัดก็มีการรองรับความต้องการของเหล่าญาติเช่นกัน จากการลงพื้นที่สำรวจวัดต่างๆ ใน กทม. พบว่ามีการจัดสถานที่จัดเก็บอัฐิไว้ 4 รูปแบบด้วยกัน คือ

1) ช่องจัดเก็บอัฐิตามกำแพงวัด ซึ่งรูปแบบช่องเก็บอัฐินี้เราสามารถเห็นได้ทั่วไปตามกำแพงของทุกวัด และญาติจะนิยมนำอัฐิมาเก็บไว้ตามช่องมากที่สุด

2) จัดเก็บอัฐิตามเสาโคมไฟของวัด ในรูปแบบนี้เราจะพบเห็นได้เพียงบางวัดเท่านั้น โดยจะมีช่องจัดเก็บอัฐิตามเสาโคมไฟสวยงามที่ทางวัดจัดสร้างขึ้น

3) จัดเก็บอัฐิตามอาคาร ศาลา หรือกุฏิ ซึ่งจะจัดเตรียมช่องจัดเก็บอัฐิไว้บนขื่อหรือหน้าประตูตามความเหมาะสมของสถานที่

4. ห้องไว้สำหรับจัดเก็บอัฐิโดยเฉพาะ ซึ่งสถานที่นี้จะเป็นที่จัดเก็บอัฐิอย่างเป็นสัดส่วนที่ทางวัดจัดเตรียมสถานที่ไว้ให้ จะมีช่องที่แบ่งซอยเป็นทีละชั้นทีละช่อง โดยให้ทางญาตินำอัฐิมาเก็บ ซึ่งจะมีเพียงบางวัดเท่านั้นที่มีห้องเก็บอัฐินี้

โถบรรจุอัฐิ

ส่วนบางคนก็เลือกที่จะเก็บอัฐิไว้ที่บ้านตามความเชื่อและธรรมเนียมที่สืบทอดกันมา เป็นเจดีย์บ้าง โถบรรจุบ้าง ทำจากวัสดุแตกต่างกัน เพื่อระลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว

ขอบคุณที่มา thaipublica